|
|
|
ข่าวเด่น
|
นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเผยหลักฐานทางทฤษฎีเป็นครั้งแรกที่แสดงว่า อาจจะมีแถบดาวเคราะห์น้อยอีกสองแห่งในระบบสุริยะของเรา แถบหนึ่งนั้นอยู่ถัดจากวงโคจรโลกของเราไปนี่เอง
เอ็น. ไวน์ อีแวนส์ และ เซิร์จ ทาบาชนิค นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ใช้การจำลองทางคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า แถบดาวเคราะห์น้อยเล็ก ๆ สองแถบอาจจะคงอยู่ได้ในระบบสุริยะชั้นในเป็นเวลานับพันล้านปี
แถบดาวเคราะห์น้อยแห่งหนึ่งอยู่ถัดจากแนวโคจรของดาวพุธเข้าไป คืออยู่ในระหว่างระยะ 0.09 ถึง 0.21 หน่วยดาราศาสตร์หรือคิดเป็น 13.5 ถึง 31.5 ล้านกิโลเมตร ส่วนแถบดาวเคราะห์น้อยอีกแถบหนึ่งอยู่เลยวงโคจรของโลกออกไปที่ระยะ 1.08 ถึง 1.28 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 162 ถึง 192 ล้านกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้พบแถบดาวเคราะห์น้อยนี้จริง ๆ จากการสังเกต แต่ได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจำลองวิวัฒนาการของระบบสุริยะในช่วง 100 ล้านปีที่ผ่านมา แล้วประเมินผลมายังอายุปัจจุบันว่าจะเป็นเช่นใด แถบดาวเคราะห์น้อยที่น่าจะมีอยู่นี้อาจจะมีดาวเคราะห์น้อยเป็นสมาชิกอยู่ถึง 1,000 ดวง
ในขณะที่เรายังไม่ได้พบดาวเคราะห์น้อยสมาชิกของแถบดาวเคราะห์น้อยที่ถัดจากแนวโคจรของดาวพุธก็ตาม (แต่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 1998 DK36 อยู่ในวงโคจรชั้นในใกล้กับดวงอาทิตย์แล้ว) แต่เป็นไปได้ที่เราได้พบดาวเคราะห์น้อยสามดวง ที่น่าจะอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่ถัดจากโลกไปนั่นคือ 1996 XB27 , 1998 HG49 และ 1998 KG3 ที่เราเองยังไม่ทราบวงโคจรที่สมบูรณ์ ของทั้งสามดวงนี้ แต่จากข้อมูลเท่าที่เรามีอยู่แสดงให้เห็นว่า พวกมันน่าจะอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่เราค้นพบ
ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยใกล้กับโลกอาจจะโคจรเฉียดกับวงโคจรของโลกก็ตาม (โดยที่มันยังอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย) แต่มันก็ไม่ค่อยมีอันตรายกับเรานัก ทั้งนี้เนื่องจากแถบดาวเคราะห์น้อยแห่งนี้ค่อนข้างเสถียรมาเป็นเวลานับพันล้านปีแล้ว ถ้าหากจะมีอันตรายเกิดขึ้นก็คงเนื่องมาจากมีสมาชิกของอวกาศจากภายนอกแวะมาเยือน จนก่อกวนให้ดาวเคราะห์น้อยหลุดออกมาเท่านั้น
แหล่งข่าว
SpaceViews