![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() |
|
|
ขอบข่ายของหุ่นยนต์ ยังมีคำอีกสองคำที่เราจะได้ยินควบคู่ไปด้วย ก็คือ คำว่า แอนดรอยด์ กับคำว่า ไซบอร์ก
แอนดรอยด์ เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในนิยายวิทยาศาสตร์ยุคทศวรรษที่ 1940 ดูเหมือนว่า แอนดรอยด์ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน The Cometeers (พ.ศ. 2479) ของแจ็ค วิลเลียมสัน โดย รูปศัพท์แอนดรอยด์หมายถึง "เหมือนคน"
ก่อนจะใช้คำว่าแอนดรอยด์ ที่เขียนว่า android นั้น เคยมีการใช้คำว่า automata และ androide มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2270 ที่มีการกล่าวถึง ความพยายามของ อัลเบอร์ตุส แม็กนุส นักเล่นแร่แปร ธาตุ ในการสร้างมนุษย์เทียม บ่อยครั้งที่มีการใช้คำว่าแอนดรอยด์ ครอบคลุมไปถึง เครื่องจักรที่ เหมือนมนุษย์ แต่โดยทั่วไปแล้ว แอนดรอยด์หมายถึง มนุษย์เทียมที่เกิดจากสารอินทรีย์ (รวมทั้ง มนุษย์โคลน)
การแยกกันที่ชัดเจนระหว่าง หุ่นยนต์กับแอนดรอยด์ มีอยู่ในงานของ เอ็ดมุนด์ แฮมิลตัน จาก งานชุด Captain Future ในงานชุดนี้ ผู้ช่วยของตัวเอกประกอบด้วย หุ่นยนต์ แอนดรอยด์ และ กล่องสมอง
มนุษย์เทียมที่ อัลเบอร์ตุส แม็กนุส พยายามสร้างนั้น มีชื่อเรียกว่าโฮมันคูไล นอกจาก นี้ตำนานของยิวก็พูดถึง โกเล็ม มนุษย์ที่สร้างจากดิน นี่เป็นหลักฐานที่อ้างถึงมนุษย์เทียม จาก การที่ มนุษย์ยังไม่รู้วิธีการสังเคราะห์ องค์ประกอบอินทรีย์ก่อนศตวรรษที่ 19 ดังนั้นบรรดา มนุษย์เทียมที่มีเลือดเนื้อยุคแรก จึงใช้วิธีสร้างที่เหมือนกับเวทย์มนต์ เหมือนในเรื่องแฟรงเกนสไตน์ ส่วนใน The Island of Dr.Moreau (พ.ศ. 2439) ของ เอช.จี.เวลส์ ใช้สัตว์มาผ่าตัดพัฒนาขึ้น และ ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์ จะพบการสังเคราะห์สารอินทรีย์แล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะมี การสร้างมนุษย์เทียม แบบสมัยใหม่อย่างในเรื่อง R.U.R. ของคาเปก ซึ่งใน R.U.R. ก็เป็นแอนดรอยด์
ในยุคแรก ๆ แอนดรอยด์ ในนิยายเหมือนกับปีศาจร้าย งานเขียนจะออกมาในทางลบ เป็นส่วนมาก ดังเช่นในเรื่อง The Uncreated Man (พ.ศ. 2455) ของ ออสติน ฟรายเออร์ Alraune (พ.ศ. 2454) ของฮานส์ ไฮนซ์ อีเวอร์ส The Monster Men (พ.ศ. 2456) และ Synthetic Men of Mars (พ.ศ. 2483) ของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์
หลังสงครามครั้งที่สอง ไซแมคเขียน Time and Again (พ.ศ. 2494) ในแง่การไขว่คว้าหา อิสระจากการเป็นทาส ของแอนดรอยด์ พูดถึงการมีจิตใจของแอนดรอยด์ จากจุดนี้เป็นต้น กำเนิดของงานเขียนเกี่ยวกับแอนดรอยด์ ทำนองนี้อีกหลายเรื่อง นอกจากนั้น ก็เป็น แอนดรอยด์ในนิยายที่แสดงถึง ความสับสนระหว่างของจริงของปลอม เช่น Made in USA ของเจ.ที.แมคอินทอช Synth ของ คีทโรเบิร์ต เรื่องเกี่ยวกับฆาตกรรม เช่น Fondly Fahrenheit (พ.ศ. 2497) ของ อัลเฟรด เบสเตอร์
ว่ากันว่า ความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จะยิ่งทำให้แอนดรอยด์มีความเป็นไปได้ มากขึ้น โดยเฉพาะ เมื่อการโคลนนิง ก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เราเคยนึก
สำหรับไซบอร์กนั้น หมายถึง การผสมผสานระหว่างคนกับชิ้นส่วนจักรกล บรรดามนุษย์ที่ มีอวัยวะเทียม อย่างหัวใจเทียมก็เรียกว่าไซบอร์กได้แล้ว ไซบอร์กลักษณะนี้ เป็นที่รู้จักดีในนิยาย วิทยาศาสตร์
นิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไซบอร์ก เรื่องสำคัญเรื่องแรก คือ The Clockwork Man (พ.ศ.2466) ของอี.วี.โอเดิล ตัวละครในเรื่องมีลานนาฬิกาอยู่ในหัว และคอยควบคุมร่างกายของเขา เขายังสามารถเดินทาง ไปยังโลกในมิติต่าง ๆ ได้ด้วย นิยายไซบอร์กยุคแรก เป็นเรื่องในรูป แบบจำพวก สมองจริงในร่างโลหะ (เอาสมองหรือจิตใจ ไปใส่ในร่างกล) ในเรื่อง The Comet Doom (พ.ศ. 2471) ของเอ็ดมุนด์ แฮมิลตัน สิ่งมีชีวิตต่างดาว ได้พัฒนาจนมีร่างกายเป็นโลหะ และยื่นข้อเสนอ พามนุษย์โลกที่เป็นไซบอร์กเหมือนกัน ไปท่องเอกภพ เรื่องประเภทสมองใน ร่างโลหะอื่น ๆ ก็เช่น The Time Conqueror (พ.ศ.2475) ของอาเทอร์ เอชบาช Donovan's Brain (พ.ศ. 2486) ของ เคิร์ต ซิดแมค
นิยายประเภทเดียวกันนี้ ในระยะต่อมา เริ่มเขียนลึกซึ้งลงไปในแง่ของ บุคลิกภาพของมนุษย์ที่ มีเครื่องจักรในตัว เช่นเรื่อง No Woman Born (พ.ศ. 2487) ของซี.แอล.มัวเร และ Who? (พ.ศ.2501) ของอัลจิส บูดรีส์ ทั้งสองเรื่องนี้ จับประเด็นที่ปัญหา การค้นหาความเป็นตัวตน ของตัวเอง เมื่อลักษณะร่างกายที่คุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากงานประเภทสมองในร่างโลหะแล้ว ก็ยังมีไซบอร์กประเภทที่ สร้างขึ้นมาทำงาน เฉพาะอย่าง หรือมีจุดประสงค์ที่แน่ชัด เช่น Scanners Live in Vain (พ.ศ. 2493) ของ คอร์ด เวนเนอร์ สมิท ไซบอร์กในเรื่อง ออกแบบมาใช้สำหรับการบินในอวกาศ Nova (พ.ศ. 2511) ของ ซามูเอล อาร์ เดลานี The Godwhale (พ.ศ. 2517) ของ ที.เจ.เบส พูดถึงไซบอร์กที่ทำ หน้าที่สะสมอาหารเป็นจำนวนมาก เป็นไซบอร์กที่เกิดจากคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และปลา วาฬผสมกัน Sea Change (พ.ศ. 2499) ของทอมัส เอ็น สกอร์เทีย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง ในอวกาศ
ไซบอร์กอีกกลุ่มคือ พวกที่ออกแบบให้เข้ากับ สภาวะแวดล้อมใหม่ทั้งหมด ไซบอร์กกลุ่มนี้ อาจสร้างขึ้นมาเพื่อ บุกเบิกดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น A Meeting with Medusa (พ.ศ. 2514) ของ อาเทอร์ ซี. คลาร์ก Man Plus (พ.ศ. 2519) ของเฟรดเดอริก โพห์ล The Garments of Caean (พ.ศ. 2519) ของบาร์ริงตัน เจ.เบย์เลย์
นิยายไซบอร์กเรื่องอื่น ๆ อีกมีเช่น I-C-a-BEM (พ.ศ. 2504) ของ แจ็ค แวนซ์ Kings Who Die (พ.ศ. 2505) ของพอล แอนเดอร์สัน A Plague of Demons (พ.ศ. 2508) ของคีท ลอมเมอร์ The Continuous Katherine Morterhoe (พ.ศ. 2517) ของ ดี.จี.คอมป์ตัน
ไปหน้า
1 - เปิดเรื่อง
2 - หุ่นยนต์ยุคแรก
3 - กฏหุ่นยนต์กับสังคมเครื่องจักร
4 - แอนดรอยด์และไซบอร์ก
5 - หุ่นยนต์ที่เหลือ